Wednesday, May 2, 2012

ข้อเท็จจริง เขื่อนไซยะบุรี : ใครคือเจ้าของลำน้ำโขง ?


รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เป็นข่าวครึกโครมไม่นานมานี้เมื่อมีกลุ่มผู้ประท้วงการสร้างเขื่อนไซยะ บุรี ที่รวมตัวหน้าอาคาร ช.การช่าง เพื่อยื่นหนังสือให้หยุดยั้งโครงการดังกล่าว เขื่อนไซยะบุรี ฟังดูอย่างไรก็ไม่น่าจะเป็นเขื่อนในประเทศไทย หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วมันเกี่ยวอะไรกับเรา ?
เพราะประเทศไทยเองก็ยังคงมีเรื่องเขื่อน ค้างคา ไม่ว่าจะเป็นแก่งเสือเต้น หรือเขื่อนแม่วงก์ อยู่แล้ว แล้วเราจะไป ‘ชักศึกเข้าบ้าน’ หาเรื่องเดือดร้อนเพิ่มทำไม ซึ่งผู้เขียนจะขอเป็นผู้ชี้แจงถึงข้อเท็จจริง ‘เบื้องหลัง’ โครงการขนาดใหญ่อย่างเขื่อนไซยะบุรีในบทความนี้

เขื่อนไซยะบุรี..ใคร ? ได้ประโยชน์

โครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขง จาก stimson.org
เขื่อนไซยะบุรีเป็นเขื่อนที่มีความจุ 225 ล้านลบ.ม. โดยจะก่อสร้างในแขวงไซยะบุรี ประเทศลาว และอำเภอที่โดนผลกระทบเป็นอำเภอแรกของประเทศไทยคือ อ.เชียงคาน จ.เลย ซึ่งเขื่อนไซยะบุรีถือเป็นเขื่อนแรกในโครงการสร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้าเหนือ แม่น้ำโขงจำนวน 12 เขื่อน
แต่เนื่องจากผลกระทบทางระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมนั้นยังไม่ชัดเจน จึงทำให้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งประกอบด้วย 4 ประเทศสมาชิก คือ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม มีมติเลื่อนการสร้างเขื่อนไซยะบุรีออกไปก่อน โดยให้บริษัทจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาศึกษาผลกระทบให้ชัดเจน โดยมีกรอบระยะเวลา 10 ปี
เรื่องราวน่าจะจบด้วยดีเพียงเท่านี้ ซึ่งตามข้อตกลง โครงการควรถูกเลื่อนออกไปเพื่อศึกษาผลกระทบ แต่ไม่นานมานี้ บริษัท ช.การช่าง (ลาว) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) กลับไปเซ็นต์สัญญา มูลค่าสัญญาประมาณ 51,824.64 ล้านบาทกับ บริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์ (ลาว) เมื่อวันที่ 17 เม.ย.55 ที่ผ่านมา และเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนโดยไม่ใส่ใจมติที่ประชุมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC)
โดยผู้ให้สินเชื่อการก่อสร้างดังกล่าวก็คือธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ซึ่งกิจการเหล่านี้ต่างซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้น กระแสไฟฟ้าจำนวน 1,260 MW ที่ผลิตได้จากเขื่อนไซยะบุรี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก็ได้ทำการเซ็นต์สัญญาซื้อพลังงานราว 95% ที่ผลิตได้จากเขื่อนดังกล่าวไปเรียยบร้อยแล้ว

ผู้เขียนจึงไม่แปลกใจเลยที่เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง จะออกมาประท้วงและแสดงความไม่พอใจ เนื่องจากประเทศไทยเองก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียระดับยักษ์กับเขื่อนไซยะบุรี และแน่นอนว่า ผู้มีส่วนได้เสียเหล่านั้นไม่ได้หมายถึงภาคประชาชน แต่เป็นภาคธุรกิจแทบทั้งหมด
ในขณะที่ทางประเทศลาว ก็ออกมากล่าวว่า คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงหรือ MRC นั้นมีหน้าที่เพียง ‘ให้ข้อมูล’ ในการสร้างเขื่อน แต่การตัดสินใจทั้งหมดนั้น อยู่ที่ประเทศลาวเอง ทั้งๆที่ได้มีการตกลงร่วมกันในความตกลงว่าด้วยการร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่ม แม่น้ำโขงแบบยั่งยืน
ความตกลงดังกล่าวกำหนดให้มีระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement: PNPCA) โดยประเทศสมาชิกจะต้องแจ้งต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ในกรณีที่ประเทศสมาชิกมีโครงการพัฒนาสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ใดๆ บนแม่น้ำโขงสายหลักหรือแม่น้ำสาขา
การกระทำดังกล่าวทั้งจากประเทศลาว และนักธุรกิจในไทย ย่อมสร้างคำถามให้กับหลายคนว่า ‘ใครคือเจ้าของลำน้ำโขง’

ผลกระทบจากเขื่อนไซยะบุรี ที่ไม่ได้จบแค่ประเทศเดียว

แน่นอนว่าเขื่อนไซยะบุรี ย่อมส่งผลกระทบทั้งในเชิงระบบนิเวศและวัฒนธรรม และหากสังเกตจากที่ตั้งของเขื่อนจะพบว่า ผลกระทบจะกินลำน้ำโขงยาวเรื่อยไปถึงประเทศกัมพูชา ซึ่งจะได้รับผลกระทบมากที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจที่ทางคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงมีมติให้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม
ผู้เขียนได้สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดจากเขื่อนไซยะบุรี และสรุปได้คร่าวๆดังนี้
  • การปิดกั้นลำน้ำของเขื่อนไซยะบุรี อาจทำให้พันธุ์ปลาจำนวน 43 สายพันธุ์เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และยังเป็นเครื่องกีดขวางการอพยพตามธรรมชาติของปลาอีกอย่างน้อย 23 สายพันธุ์
  • รายงานคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติกัมพูชา และ World Fish Center ปี 2550 เปิดเผยว่ามีปลาเพียง 9 สายพันธุ์ในแม่น้ำโขงที่สามารถขยายพันธุ์ได้ในอ่างเก็บน้ำ และมีข้อบ่งชี้ว่าการทำประมงในอ่างเก็บน้ำไม่สามารถทดแทนการทำประมงตาม ธรรมชาติได้
  • เขื่อนไซยะบุรีมีความสูงถึง 48 เมตร แต่มีผู้เสนอให้ใช้แนวทางลดผลกระทบเรียกว่า ‘ทางปลาผ่าน’ ซึ่งหมายความว่าปลาจะต้องว่ายน้ำอพยพผ่านทางสันเขื่อนซึ่งมีความสูงเท่าตึก 15 ชั้น
  • เขื่อนจะทำให้น้ำท่วมเหนือสันเขื่อน 90 กิโลเมตร ส่งผลให้ประชาชนราว 2,000 คนต้องอพยพ และอีกว่า 200,000 คนที่จะได้รับผลกระทบต่อการดำเนินวิถีชีวิต
  • เขื่อนจะปล่อยกระแสน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในอัตรา 5,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ในขณะที่อัตราการไหลเฉลี่ยของแม่น้ำโขงในหน้าแล้งคือ 1,200 ลบ.ม. ต่อวินาที ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำของลำน้ำโขงตอนล่างของเขื่อนเปลี่ยนแปลงราว 3 – 5 เมตรใน 1 วัน
  • ประชาชนหลายสิบล้านคนที่ใช้ชีวิตโดยพึ่งพิงลำน้ำโขงอาจต้องเปลี่ยนวิถี ชีวิต และอาจทำให้ผลผลิตทางประมงจากลำน้ำโขงตอนล่างลดลงกว่า 10,000 ตันต่อปี

No comments:

Post a Comment